พิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ

January 10, 2022

ระหว่าง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

            วัน พฤหัสบดีที่ 6 มกราคม 2565 :กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (สอศ.) ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อ
ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการเรียนการสอนออนไลน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนอาชีวศึกษาผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต Thai MOOC โดย อว. และ สอศ. จะร่วมมือกันในการนำสื่อการเรียนรู้อาชีวศึกษาที่
มีอยู่จำนวนมากมาพัฒนาต่อยอดเป็นรายวิชาออนไลน์ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
Thai MOOC และร่วมกันพัฒนาครูและบุคลากรการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาและ
วิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศในการออกแบบและจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาฐานวิถีใหม่ (New normal)
งานดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สป.อว. (ถนนโยธี)
          ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 
 ประธานในพิธีความร่วมมือทางวิชาการ กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนธิกำลังขับเคลื่อนระบบการศึกษาของประเทศ จากความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ระบบและวิธีการศึกษาต้องตอบสนองและการปรับเปลี่ยนให้ทัน การศึกษาทางไกลและการศึกษารูปแบบออนไลน์มีประโยชน์ และ
จะมารองรับแนวโน้มทางการศึกษา 3 แนวโน้ม คือ 1. แนวโน้มของการเรียนรู้ตลอดชีวิต จากวิทยาการทางการแพทย์ส่งผลให้ผู้คนมีอายุยืนขึ้น อาชีพเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก ความต้องการที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา การเรียนรู้เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทุกคน ทุกช่วงวัยต้องทำต่อเนื่อง 2. แนวโน้มการเรียนรู้ที่ไม่ได้มี
เป้าหมายเพื่อวุฒิการศึกษา การเรียนหลักสูตรสั้น ๆ เพื่อการทำงาน (Non-Degree Programs) เป็นที่ต้องการมากขึ้น  3. ความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อม เช่น สถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นตัวอย่างชัดเจน ที่เราจะต้องมีระบบมีช่องทางการเรียนรู้ที่รองรับสถานการณ์ การเรียนออนไลน์เป็นทิศทางที่เข้ามาตอบสนองความต้องการได้อย่างดีและได้รับความสนใจอย่างมาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โดยโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (TCU) ได้ดำเนินโครงการ Thai MOOC มากว่า 5 ปีเพื่อเตรียมการรองรับ
แนวโน้มการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนแปลง ปัจจุบันมีผู้เรียนกว่า 1.2 ล้านคนในระบบ มีรายวิชาออนไลน์มากกว่า 500 รายวิชา มีความร่วมมือนำองค์ความรู้ วิทยาการจากสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานรัฐและเอกชนทั่วประเทศกว่า 120 แห่งมาเผยแพร่เป็นรายวิชาออนไลน์ Thai MOOC เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางเพื่อการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ Learning on demand และการเรียนรู้หลักสูตรระยะสั้นเพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน ความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้
เป็นการสนธิกำลังครั้งสำคัญเพราะเป็นการนำจุดแข็งของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โดยโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (TCU)  ในส่วนของแพลตฟอร์มดิจิทัล Thai MOOC มาประสานกับเรื่อง Content ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีอยู่เป็นจำนวนมาก มาจัดทำรายวิชาออนไลน์เพื่อการ เรียนการสอนของอาชีวศึกษาและสถาบันการศึกษาทุกระดับ และเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านอาชีพที่สำคัญเพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มเติมศักยภาพการทำงานอาชีพของประชาชน ขับเคลื่อนสังคมเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

      ดร.สุเทพ  แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า  ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และสอศ.ได้ใช้เทคโนโลยีในการจัดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งการทำความร่วมมือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนออนไลน์ของอาชีวศึกษา จัดทำสื่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ (คลังสื่อ) ของสอศ.
ให้สอดคล้อง กับ Thai MOOC (Thailand Massive Open Online Course Platform) ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ในการพัฒนาทักษะดิจิทัล ให้แก่นักเรียน นักศึกษาและบุคลากรในสังกัดสอศ. และให้บริการ
การเรียนรู้ออนไลน์สำหรับการศึกษาแบบเปิด ด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนส่งเสริม
ความร่วมมือทางด้านการพัฒนา คิดค้น และใช้นวัตกรรมทางการศึกษา รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในทุกด้านที่
เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับการศึกษาแบบเปิด เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์
ต่อการพัฒนาการศึกษาของการอาชีวศึกษาให้มีศักยภาพด้านดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนำไป
สู่การผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
 ทั้งนี้ โครงการความร่วมมือดังกล่าว มีระยะเวลา 5 ปี

Comments 0

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *