Thai MOOC Story

ความเป็นมา Thai MOOC

โครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เล็งเห็นความสำคัญที่จะสร้างให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการเรียนการสอนออนไลน์ในระบบเปิดสำหรับมหาชน (MOOC) เพื่อให้เกิดการแบ่งปันทรัพยากรสื่อการเรียนรู้ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชาเกิดความร่วมมือกันในการพัฒนาและจัดการเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิด สำหรับมหาชนและร่วมกัน ในการพัฒนาระบบกลางในการจัดการเรียนการสอน กระบวนการวัดและประเมินผล มีการจัดเก็บฐานข้อมูลผู้เข้าเรียนและประวัติ และผลการเรียน จำนวนหน่วยกิตรายวิชาพร้อมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา พัฒนาไปสู่ความร่วมมือในการเรียนการสอนในหลักสูตรที่มีหน่วยกิต การลงทะเบียนเรียนรายวิชาข้ามสถาบันอุดมศึกษา การถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ฯลฯ

โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทยเพื่อการจัดการเรียนการสอนในระบบเปิด (Thai-MOOC) ภายใต้โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ชื่อแผนงานที่ 3 การสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดทำโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย เพื่อเป็นระบบและศูนย์กลางการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาชนแห่งชาติ (Thai MOOC) เป็นสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศกลางเพื่อรองรับ “การศึกษาระบบเปิดเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” (Lifelong Learning Space)

วัตถุประสงค์ Thai MOOC
วิธีการดำเนินโครงการ
เป้าหมาย Thai MOOC
กิจกรรม Thai MOOC
วัตถุประสงค์ Thai MOOC

1) การพัฒนาระบบจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในระบบเปิดที่สามารถรองรับผู้เรียนได้อย่างไม่จำกัดจำนวนที่มีระบบฐานข้อมูลผู้เรียน ประวัติการเรียนและหน่วยกิตสะสม (Credit Bank and credit transfer) พร้อมระบบการถ่ายโอนหน่วยกิต
2) การพัฒนามาตรฐานและแนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอน และการประกันคุณภาพการศึกษาระบบเปิดสำหรับมหาชน (MOOC)
3) การสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อการสร้างและหรือปรับปรุงสื่อรายวิชาให้เป็นลักษณะ MOOCและประสานความร่วมมือในการถ่ายโอนหน่วยกิตระหว่างสถาบันฯ
4) การพัฒนารายวิชา ประกอบด้วยสื่อการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนรู้ ตามมาตรฐานคุณภาพและกระบวนการเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาชน (MOOC)
5) การพัฒนาคลังข้อสอบเพื่อการวัดและประเมินผลการเรียนรายวิชาในระบบ MOOCการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยและพัฒนากระบวนการ และระบบการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากขึ้น

วิธีการดำเนินโครงการ

1) ประสานเครือข่ายพัฒนาอุดมศึกษา 9 เครือข่าย และมหาวิทยาลัยตามกลุ่มเป้าหมาย (ครอบคลุมทั่วประเทศ) เพื่อระดมผู้เชี่ยวชาญจากทุกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการ
2) ศึกษาและพัฒนาระบบการเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาชนแห่งชาติ (Thai MOOC) ที่มีคุณลักษณะรองรับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาชน มีระบบคลังสื่อการเรียนรู้ ที่มีระบบฐานข้อมูลผู้เรียน ประวัติการเรียนและหน่วยกิตสะสม (Credit Bank and credit transfer) พร้อมระบบการถ่ายโอนหน่วยกิต
3) พัฒนามาตรฐานกระบวนการเรียนการสอน มาตรฐานสื่อการเรียนรู้ และการประกันคุณภาพการเรียนการสอนออนไลน์ในระบบเปิดสำหรับมหาชน (THAI MOOC)
4) พัฒนาและหรือแปลง/ปรับปรุงสื่อการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่กำหนด ให้เป็นรายวิชาเพื่อการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในระบบเปิดสำหรับมหาชน (THAI MOOC)
5) จัดการเรียนการสอนออนไลน์ในระบบเปิดสำหรับมหาชน (THAI MOOC) ประเมินและปรับปรุง พัฒนาต่อเนื่อง
6) ประสานมหาวิทยาลัย/หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อการรับรองมาตรฐานและการถ่ายโอนหน่วยกิตที่เป็นผลการเรียนรู้จากระบบการเรียนการสอนออนไลน์ในระบบเปิดสำหรับมหาชนทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
7) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายการจัดการเรียนการสอนในระบบเปิดสำหรับมหาชน (MOOC) ในภูมิภาคและนานาชาติ

เป้าหมาย Thai MOOC

1) ต้องการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ที่มีระบบการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในระบบเปิดสำหรับมหาชน (Thailand Cyber University) มีระบบฐานข้อมูลผู้เรียน ประวัติการเรียนและหน่วยกิตสะสม (Credit Bank and credit transfer) พร้อมระบบการถ่ายโอนหน่วยกิต และระบบคลังข้อสอบ
2) ได้มาตรฐานและแนวปฏิบัติการจัดการเรียนการสอน และการประกันคุณภาพการศึกษาระบบเปิดสำหรับมหาชน (MOOC)
3) ได้วิชาเพื่อการเรียนการสอนในระบบเปิดสำหรับมหาชน (MOOC) จำนวนไม่น้อยกว่า 30 วิชา ครอบคลุมอย่างน้อย
 – วิชาด้านเทคโนโลยี การพัฒนาซอฟต์แวร์ การจัดการเทคโนโลยีและระบบเครือข่าย
 – วิชาการจัดการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในศตวรรษที่ 21
 – วิชาการเพิ่มความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพ / วิชาชีพ
 – วิชาการจัดการเรียนการสอนยุคใหม่
 – วิชาที่เกี่ยวกับภาษา วัฒนธรรม การทำงาน และการใช้ชีวิตในประเทศไทย และอาเซียน
4) จัดการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาความรู้สำหรับ พนักงาน ผู้ประกอบการ นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนที่สนใจ ไม่น้อยกว่า 3,000 คน
5) สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล

กิจกรรม Thai MOOC

กิจกรรมที่ 1 พัฒนาระบบการเรียนการสอนกลางสำหรับการใช้ร่วมทุกโครงการ MOOC
กิจกรรมที่ 2 การประชาสัมพันธ์โครงการ
กิจกรรมที่ 3 พัฒนา และหรือแปลง/ปรับปรุงสื่อการเรียนรู้
กิจกรรมที่ 4 จัดประชุมเพื่อพัฒนามาตรฐานและแนวปฏิบัติการเรียนการสอน MOOC ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
กิจกรรมที่ 5 จัดอบรมเพื่อเตรียมอาจารย์และผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการ ให้บริการการเรียนการสอนในระบบฯ
กิจกรรมที่ 6 การประสานติดตามการดำเนินงาน